บทคัดย่อ
โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นนี้ใช้วิธีการดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพทรัพยากรการประมงพื้นบ้านของชุมชนริมเขื่อนลำปาวและพัฒนากลไกและมาตรการพัฒนาทรัพยากรการประมงพื้นบ้านของชุมชนริมเขื่อนลำปาว ตำบลหนองสรวง อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ กลุ่มเป้าหมายการวิจัยเกิดจากการพัฒนาโจทย์วิจัยและการประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย ได้แก่ นักวิจัยชุมชน จำนวน 24 คน ชาวบ้าน จำนวน 137 ครัวเรือน และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์และองค์กรประชาสังคม จำนวน 8 คน พื้นที่ดำเนินการวิจัย คือ ชุมชนริมเขื่อนลำปาว 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านทับปลา หมู่ที่ 7 และบ้านคำแคน หมู่ที่ 9 ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสนทนากลุ่มย่อย แบบสอบถามระดับครัวเรือน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D) และสรุปรายงานผล
ผลการวิจัยพบว่า ศักยภาพทรัพยากรการประมงพื้นบ้านด้วยการการประเมินด้านความมั่นคงทางอาหารของครัวเรือนบ้านทับปลาและบ้านคำแคน ทั้ง 2 หมู่บ้านส่วนใหญ่ ครัวเรือนสามารถเข้าไปหาอาหารหรือผลิตอาหารที่จำนวนเหมาะสมสำหรับบริโภคในครัวเรือนอยู่ในระดับมาก บ้านทับปลาประเมินค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.07 บ้านคำแคนประเมินค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.28 ส่วนค่าประเมินที่คะแนนต่ำสุดของทั้ง 2 หมู่บ้านคือ ครัวเรือนมีความเสี่ยงกับการไม่สามารถเข้าถึงอาหารอันเป็นผลมาจากวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยบ้านทับปลาประเมินอยู่ในระดับปานกลาง คือ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.03 ส่วนบ้านคำแคนประเมินอยู่ในระดับน้อย มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.32 จากการประเมินสภาวะทุนท้องถิ่นทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ (1) ทุนมนุษย์ (2) ทุนกายภาพ (3) ทุนการเงิน (4) ทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ และ (5) ทุนด้านกลุ่ม องค์กรและเครือข่าย
ด้านการพัฒนากลไกและมาตรการพัฒนาทรัพยากรการประมงพื้นบ้านของชุมชนริมเขื่อนลำปาว ตำบลหนองสรวง อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า มีการสร้างกลไกสร้างความร่วมมือร่วมกันกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ (1) สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองสรวง (2) หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนลำปาว (3) เทศบาลตำบลหนองสรวง (4) เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดกาฬสินธุ์ และ (5) นักวิจัยชุมชนในพื้นที่ โดยมีกระบวนการพัฒนากลไกและสร้างมาตรการพัฒนาทุนท้องถิ่นประมงพื้นบ้านเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ประกอบด้วย 10 ขั้นตอน คือ (1) จัดตั้งคณะทำงาน (2) พัฒนาเครื่องมือและเก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่วิจัย (3) วิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (4) กำหนดมาตรการและแผนปฏิบัติการ (5) จัดประชุมชาวบ้านเพื่อคืนข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น (6) ปรับปรุงแก้ไขข้อมูล (7) การประกาศใช้มาตรการสู่สาธารณะ (8) นำแผนไปสู่การปฏิบัติการจริง (9) สรุปและประเมินผลการดำเนินงาน และ (10) ทบทวนเพื่อปรับปรุงมาตรการและแผนปฏิบัติการ
คำสำคัญ
กลไกการพัฒนาประมง การประมงพื้นบ้าน ความมั่นคงทางอาหาร มาตรการพัฒนาทุนท้องถิ่น
หน้า: 204-237
ประเภท: บทความวิจัย
เผยแพร่: 1 ก.ค. 2565
View: 332
Download: 60
กำลังออนไลน์: 11
วันนี้: 133
เมื่อวานนี้: 163
เดือนนี้: 2,988
ปีนี้: 35,195
จำนวนเข้าชม: 117,007
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 680 ถ.นิตโย ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร 47000 โทร 0 4274 4014
บรรณาธิการ: ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัฐพล ฤทธิธรรม
ติดต่อ/สอบถาม: นางสาวภุลภญา บีลี
โทร: 0636255597 E-Mail : pulpaya@snru.ac.th